ได้ยินมาว่า

พูดคุยปัญหาเรื่องราว ต่างๆเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมะ

Moderator: ดอยเวียงเกี๋ยงวนา

ได้ยินมาว่า

โพสต์โดย นาติยาภร » จันทร์ 09 ส.ค. 2010 8:04 pm

เคยได้ยินมาว่า พระภิกษุต้องปลงอาบัติ แล้วก็ปิดบาปได้ จริงหรือเปล่าคะ?

ถ้าพระมีพิธีการปิดบาปได้ แล้วโยมจะมีวิธีใดบ้าง เพื่อปิดบาปของตนเองได้

ทางศาสนาคริสต์ เขาก็มีการสารภาพบาป ทางพุทธเรา มีหรือเปล่า

ทางพุทธมีพิธี สะเดาะเคราะห์ หรือ ต่อชะตา หรือไม่คะ

พระควรใช้จีวรสีอะไรกันแน่ (สงสัยมานานแล้ว)
แก้ไขล่าสุดโดย นาติยาภร เมื่อ อังคาร 10 ส.ค. 2010 11:07 am, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง
นาติยาภร
สมาชิกทั่วไป
 
โพสต์: 13
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ 25 มิ.ย. 2010 10:13 am

Re: ได่ยินมาว่า

โพสต์โดย กลุ่มดอยเวียงเกี๋ยง » จันทร์ 09 ส.ค. 2010 11:12 pm

เคยได้ยินมาว่า พระภิกษุต้องปลงอาบัติ แล้วก็ปิดบาปได้ จริงหรือเปล่าคะ?

- พระ "ปลงอาบัติ" แล้ว ไม่สามารถปิดบาปได้ โทษที่จะไ้ด้รับยังมีอยู่

เป็นเพียงการสารภาพการละเมิดวินัยของตน ว่าตนเองได้ทำผิดแล้ว และจะระมัดระวังสำรวมต่อไป (ไม่ให้เกิดขึ้นอีก)

เพราะคำว่า "ปลงอาบัติ" นี่แหละ เป็นเหตุให้เข้าใจกันไขว้เขว หรือถึงขั้น "เข้าใจผิด"

ตำรา(พระไตรปิฎก) ใช้คำว่า "ปฏิเทเสมิ" แปลว่า ข้าพเจ้าขอแสดงคืน หรือ ข้าพเจ้าเห็นเฉพาะ (อาบัติที่ละเมิด)

โบราณอาจารย์ท่านใช้คำว่า "เทศนาบัติ" แปลว่า แสดงอาบัติ(สิ่งที่ล่วงละเมิด)

นอกจากนี้ คำว่า "อาบัติ" มีชนิดที่แสดงได้ กับ แสดงไม่ได้

ชนิดที่ "แสดงไม่ได้" ชื่อว่าปาราชิก ภิกษุละเมิดแล้วต้องขาดจากความเป็นภิกษุ ไม่ต้องทำการลาสิกขา

อีกชื่อหนึ่งคือ สังฆาทิเสส ภิกษุละเมิดแล้วต้องถูกหมู่สงฆ์ลงโทษ โดยถูกจำกัดสถานที่หรือบริเวณตามระยะวันเวลาที่ปกปิดความละเมิดไว้

หากมิได้ปกปิดไว้ก็จะถูกจำกัดบริเวณเป็นเวลา ๖ วัน ๖ คืน ขณะที่ถูกสงฆ์ลงโทษนี้จะต้องบอกกล่าวต่อหน้าหมู่สงฆ์ทุกวัน จนครบจำนวนวัน

เมื่อครบแล้วจึงให้หมู่สงฆ์จำนวนต้องไม่กว่า ๒๐ รูป ประกาศ จึงเข้าหมู่สงฆ์ได้ตามปกติ

อาบัติบางอย่าง เมื่อละเมิดแล้วต้องทำการสละทิ้งเสียก่อนจึงจะแสดงอาบัติได้ เช่น เรื่องเกี่ยวกับการรับ-ยินดีในเงินทอง เรื่องเกี่ยวกับการเก็บผ้าไตรจีวรไว้เกินกำหนด เป็นต้น

อาบัตินอกนั้นแสดงได้ทันทีเมื่อระลึกได้ว่า ตนได้ทำการละเมิดโทษทางพระวินัย


..............................................................................................................................................

แล้วโยมจะมีวิธีใดบ้าง เพื่อปิดบาปของตนเองได้?

- การปิดบาป ไม่มี มีแต่ให้สร้างกุศล เจริญปัญญา จนไม่ต้องกลับมาเกิดอีก จะเรียกว่า "หนีบาปให้พ้นๆ" ก็ได้

ี่พระพุทธเจ้าตรัสสั่งสอนพุทธบริษัททั้งหลายว่า "การไม่ทำบาป(ความชั่ว)ทั้งปวง การยังกุศลให้เกิด การทำจิตให้ผ่องใส" นี้เป็นคำสั่งสอนของเราตถาคต


ทางศาสนาคริสต์ เขาก็มีการสารภาพบาป ทางพุทธเรา มีหรือเปล่า?

- การที่พระละเมิดพระวินัยแล้วเปิดเผยต่อหน้าพระอีกรูปหนึ่ง ด้วยกล่าวว่า

"ท่านครับ กระผมละเมิดโทษ ชื่อ... กระผมขอแสดงโทษนั้น"

พระอีกรูปถามว่า "ท่านเห็นหรือ?"

ตอบว่า "ครับ กระผมเห็น"

"ท่านพึงสำรวมระวังต่อไป"

ตอบว่า "ครับ กระผมจะสำรวมระวังต่อไป (ไม่ให้เกิดขึ้นอีก)"

นี้เป็นการเปิดเผยความผิดของพระ ตามที่พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้

พุทธองค์ทรงให้นักบวชในพุทธศาสนา "เป็นผู้เปิดเผย" อย่าเป็นผู้ทำตัวปกปิดซ่อนเร้น บาปกรรมที่ตนได้ล่วงละเมิด ยิ่งปิดยิ่งเหม็น ยิ่งเน่า(ใน)

..............................................................................................................................................

ทางพุทธมีพิธี สะเดาะเคราะห์ หรือ ต่อชะตา หรือไม่คะ?

- "ชะตา" มาจากคำว่า "ชาตะ" แปลว่า การเกิด

พระุพุทธเจ้า "ไม่สรรเสริญ" การเกิด มีแต่สอนให้ "เห็นโทษ" ของการเกิด

แล้วแสวงหาหนทาง "ดับ" การเกิด ไม่ต้อง "สืบต่อ" ในที่ไหนๆ อีก

ในชีวิตที่ต้องประสบกับความทุกข์นานัปการ มีความคับแค้นใจ เสียใจ พลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก ปรารถนาอันใดก็ไม่ได้ดั่งใจหวัง

ต้องดิ้นรนทำมาหาเลี้ยงชีพ ประสบกับความสุขเพียงเล็กน้อย เพราะเหตุปัจจัยอะไรเล่า?

ก็เพราะมี "การเกิด" นี่แหละ เป็นเหตุ เป็นปัจจัย

หรือ มีกรณีเมื่อถูกอมนุษย์ก่อกวนถึงขั้นจะเอาชีวิตกันให้ได้(บางคนไม่เชื่อเรื่องภูตผีปีศาจ ก็แล้วแต่เขา)

พระพุทธองค์ให้นิมนต์พระทำการสวดพระปริตร เพื่อทำการคุ้มครองมิให้อมนุษย์ก่อกวน (หาอ่านได้ในพระไตรปิฎก เรื่องอายุวัฒนกุมาร)

..............................................................................................................................................

พระควรใช้จีวรสีอะไรกันแน่? (สงสัยมานานแล้ว)

- สีจีวรที่ห้ามพระใช้มี ดังนี้

ก็โดยสมัยนั้นแล พระฉัพพัคคีย์ทรง (ห่ม, ครอง) จีวรสีครามล้วน ทรงจีวรสีเหลืองล้วน ทรงจีวรสีแดงล้วน ทรงจีวรสีบานเย็นล้วน ทรงจีวรสีดำล้วน

ทรงจีวรสีแสดล้วน ทรงจีวรสีชมพูล้วน ทรงจีวรที่ไม่ตัดชาย ทรงจีวรมีชายยาว ทรงจีวรมีชายเป็นลายดอกไม้ ทรงจีวรมีชายเป็นแผ่น

สวมเสื้อ สวมหมวก ทรงผ้าโพก ประชาชนพากันเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า เหมือนพวกคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้น แด่พระผู้มีพระภาคเจ้า.

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสห้ามว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงทรง (ห่ม) จีวรสีครามล้วน ไม่พึงทรงจีวรสีเหลืองล้วน

ไม่พึงทรงจีวรสีบานเย็นล้วน ไม่พึงทรงจีวรสีดำล้วน ไม่พึงทรงจีวรสีแสดล้วน ไม่พึงทรงจีวรสีชมพูล้วน...

ไม่พึงสวมเสื้อ ไม่พึงสวมหมวกไม่พึงทรงผ้าโพก รูปใดทรง ต้องอาบัติทุกกฏ.


(จาก พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๗ หน้าที่ ๓๐๙-๓๑๐ ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย - เล่มสีน้ำเงิน)
กลุ่มดอยเวียงเกี๋ยง
สมาชิกทั่วไป
 
โพสต์: 77
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 25 เม.ย. 2010 6:56 am


ย้อนกลับไปยัง ถาม-ตอบ ปัญหาธรรมะ

ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิกใหม่ และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน

cron